Chapter 13: ที่ตั้งโครงการอย่างยั่งยืนในนิยามของ LEED (3)
Updated: Jun 12, 2019
Green way
Chapter 13: ที่ตั้งโครงการอย่างยั่งยืนในนิยามของ LEED (3)
“เสียสละเพื่อส่วนรวม” คำๆนี้ พูดง่ายแต่ทำยากนะครับ เพราะว่า การเสียสละแบบนี้ส่วนมากจะไม่ค่อยมีคนเห็น และส่วนใหญ่ไม่มีใครบังคับให้เราทำซะด้วย ในความเคยชินของเรา มันเลยกลายเป็นคำว่า “ไม่เป็นไร…ไม่มีใครทำเราก็ไม่เห็นต้องทำเลย” เพราะฉะนั้น เรื่องของการเสียสละเพื่อส่วนรวมเลยต้องถูกใส่ใว้ในกฏหมาย เช่น ระยะการถอยร่นอาคารจากแนวเขตที่ดิน และการคงไว้ซึ่ง minimum open space เป็นต้น
หัวข้อที่ผมจะพูดในวันนี้ คือเรื่องที่ตั้งโครงการอย่างยั่งยืนในนิยามของ LEED 4 หัวข้อสุดท้ายซึ่งถ้าจะพูดกันตรงๆก็คือเค้าต้องการให้เราเสียสละเพื่อส่วนรวม แต่จะเป็นอย่างไร มากน้อยแค่ไหนลองมาดูกันครับ
6 การพัฒนาที่ตั้งโครงการ
6.1 การพัฒนาที่ตั้งโครงการ – การปกป้องและคงไว้ซึ่งพืชและสิ่งมีชีวิตที่อยู่ในพื้นที่ตั้งโครงการ
สิ่งที่เราจะต้องทำก็คือการพัฒนา(ก่อสร้างโครงการ) ให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่มีอยู่เดิมให้น้อยที่สุด อย่างที่เราทราบว่าการก่อสร้างทั่วไป เราก็สร้างกัน วางวัสดุกัน สร้างบ้านพักคนงานกัน อะไรตรงไหนก็ได้ตามที่เราเห็นว่าสะดวกแต่ในข้อนี้เค้าต้องการให้เราทำอย่างนี้ครับ
บริเวณที่ถูกรบกวนจากการก่อสร้างจะต้องอยู่ในขอบเขตไม่เกิน 40 ฟุต (12 เมตร) จากแนวอาคาร
ถ้าสร้างถนน(main) บริเวณที่ถูกรบกวนจากการก่อสร้างจะต้องอยู่ในขอบเขตไม่เกิน 15ฟุต (4.5 เมตร)จากแนวขอบถนน เป็นต้น
ข้อกำหนดเหล่านี้ทำให้เกิดการวางแผนการก่อสร้าง การวางผังบริเวณการก่อสร้าง ให้เป็นที่เรียบร้อยก่อนที่จะเริ่มทำการก่อสร้าง ทั้งนี้ทั้งนั้น สิ่งที่ทำนั้นก็ทำเพื่อส่วนรวม ซึ่งในที่นี้เค้ากำลังหมายความถึงระบบนิเวศน์ของบริเวณนั้นซึ่งถ้าเกิดการเปลี่ยนแปลงจะมีผลกระทบต่อระบบนิเวศน์ใหญ่ไปด้วย
6.2 การพัฒนาที่ตั้งโครงการ – การเพิ่มพื้นที่ open space ให้ได้มากที่สุด
โดยปกติการขึ้นโครงการในเมืองนั้นการทำ open space ให้ได้ตามที่กฏหมายกำหนดก็ทำเอาเจ้าของโครงการเปลืองพื้นที่ไปเป็นจำนวนมากอยู่แล้ว ในหัวข้อนี้ต้องการให้มีพื้นที่ open space เพิ่มขึ้นจากที่กฏหมายกำหนดไว้อีก 25% เช่น ถ้ากฏหมายกำหนดไว้ว่า 30% ของ 100 ตร.ม. คือ 30 ตร.ม. เราจะต้องทำให้ได้ 37.5 ตร.ม แทน ในข้อนี้เป็นการร้องขอให้เกิดการเสียสละส่วนตัวเพื่อส่วนรวมให้มากกว่าที่กฏหมายกำหนดเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของคนในชุมชน คุณภาพของสิ่งแวดล้อมในโครงการและภาพรวมที่ดีของเมือง
7 การออกแบบที่ตั้งโครงการเพื่อการรองรับน้ำฝน
โดยสรุป หลักของเรื่องนี้ก็คือ การที่พื้นดินปกติมีความสามารถในการรับน้ำฝนให้ซึมลงดินอยู่แล้ว ได้กลายมาเป็นพื้นคอนกรีตที่น้ำซึมผ่านไม่ได้ สุดท้ายน้ำก็ไหลบ่าไปยังพื้นที่ที่อยู่ติดกัน นำพาเอาดินและตะกอนไปยังที่ดินและแหล่งน้ำที่สะอาดจนเกิดการปนเปื้อน ซึ่งในวิธีป้องกันก็คือการทำให้มีพื้นที่ที่น้ำซึมผ่านได้ให้มากที่สุดในพื้นที่โครงการ รวมถึงมีระบบการระบายน้ำที่เพียงพอต่อพิ้นที่ดาดแข็งที่จะเกิดน้ำไหล่บ่าเมื่อฝนตก รวมถึงมีการ treat น้ำที่ได้ระบายออกไปก่อนที่จะไปสู่ท่อระบายสาธารณะ
8 ปรากฏการเกาะร้อน (Heat Island Effect)
สรุปเป็นภาษาที่เข้าใจง่ายก็จะหมายถึง ในเมืองมีตึกมาก ถนนมาก คอนกรีตอมความร้อนไว้มาก ในเมืองก็เลยร้อนมากกว่าบริเวณข้างเคียง และจะเย็นลงได้ช้ากว่าเพราะว่าคอนกรีตยังคายความร้อนออกมาไม่หมด
ส่วนที่จะเก็บความร้อนเอาไว้มากๆก็จะมีอยู่สองส่วน นั่นก็คือ
1.ถนน, ที่จอดรถ, และพื้นดาดแข็ง
ในส่วนของพื้นและถนนมีวิธีการช่วยลด การสะสมความร้อนในพื้นดาดแข็งนั้นก็คือ
ปลูกต้นไม้บังแดด
ใช้ แผง solar cell บังแดดแล้วยังได้ไฟฟ้ามาใช้ (แต่แพง)
ใช้แผงบังแดดที่มีค่าการสะท้อนความร้อนดี
ใช้วัสดุปูพื้นที่มีค่าการสะท้อนความร้อน
ใช้บล็อคปูถนนแบบที่หญ้าขึ้นได้ (อันนี้ช่วยเรื่องการระบายน้ำฝนได้ด้วย)
2.หลังคา
ในส่วนของหลังคาที่ยังไงก้ต้องโดนแดดอยู่แล้วสามารถแก้ปัญหาได้โดย การใช้วัสดุหลังคาที่ทีค่าการสะท้อนแสงไม่ต่ำกว่า 75% และ/หรือ ใช้หลังคากรีน รูฟ ที่มีการปลูกพืชบนหลังคาก็จะเป็นการช่วยลดความร้อนได้
9 การป้องกันมลภาวะทางแสงในเวลากลางคืน
มลภาวะทางแสงในเวลากลางคืน คือ การที่อาคารส่องแสงออกมารบกวนอาคารเพื่อนบ้านในเวลากลางคืน และทำให้เกิดความผิดปกติของการใช้ชีวิตของสัตว์บางชนิด ในหัวข้อนี้จึงมีข้อกำหนดให้ตัวอาคารมีการควบคุมเรื่องแสงสว่างทิศทางของแสง ทั้งภายในอาคารที่จะลอดออกมารบกวนเพื่อนบ้านและไฟภายนอกอาคาร
โปรดติดตามหัวข้อต่อไปเรื่อง การใช้น้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุด ใน Green Way ฉบับหน้านะครับ
Recent Posts
See AllGreen Way Chapter 15 : การออกแบบบ้านเพื่อการป้องกันความร้อน การออกแบบบ้านโดยเน้นเรื่องการติดแอร์ให้ประหยัดพลังงานในบ้านเพื่อทำให้บ้านเย็น...
Green way Chapter 14: การใช้น้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุดภายในอาคาร วันนี้เรื่องที่เราจะพูดถึงกันเป็นหมวดที่สองที่อยู่ในการประเมินอาคารของ...
Green way Chapter 12: ที่ตั้งโครงการอย่างยั่งยืนในนิยามของ LEED (2) Sustainability หรือ ความยั่งยืน ที่มีการตระหนัก ถึงตัวโครงการเอง...
Commentaires