Chapter1: บ้านกรีน…ยังไง?
Updated: Jun 12, 2019
Green way:
Chapter1: บ้านกรีน…ยังไง?
ผมตั้งชื่อบทแรกของคอลัมน์ นี้ตาม เพลง ”รักแท้…ยังไง” ของน้องน้ำชา สาเหตุก็เพราะ มักจะมีคนถามผมว่า “บ้านกรีน” นี่มันต้องเป็นยังไงถึงจะเรียกว่าเป็นบ้านกรีน เอาล่ะ ไหนๆก็เกริ่นกันมาซะขนาดนี้แล้ว เข้าเรื่องเลยก็แล้วกัน หลายๆคนงงว่า “เอ๊ะ ตกลงบ้านกรีน กับ บ้านประหยัดพลังงานนี้มันคือสิ่งเดียวกันหรือเปล่า?” คำตอบก็คือ บ้านประหยัดพลังงานเป็นส่วนหนึ่งของบ้านกรีนครับ และถ้าจะถามต่อว่า เอ๊ะ ทำไม ก็ให้ผมอธิบายอย่างนี้ดีกว่าครับ คำว่า กรีน ที่แปลว่าสีเขียวที่เรารู้จักกันอยู่แล้วนั้น ปัจจุบันได้ถูกนำมาใช้แทนความหมายที่สำคัญอีกอย่างนั่นก็คือ การไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมหรือการทำเพื่อสิ่งแวดล้อม แม้กระทั่งในเวปไซต์ dictionary.com ก็แปลความหมาย ความหมายหนึ่งของ Green ว่า “environmentally sound or beneficial” ดังนั้น บ้านกรีน ก็คือ บ้านเพื่อสิ่งแวดล้อม
หากจะมาตีความกัน จริงๆแล้วคำว่า”สิ่งแวดล้อม”นั้นกว้างมาก เพราะว่า เราเองก็เป็นส่วนหนึ่งของสิ่งแวดล้อม เพื่อนบ้านเราก็เป็นสิ่งแวดล้อม ต้นไม้ นก ปลา ผีเสื้อ ล้วนแต่เป็นสิ่งแวดล้อม เพราะฉะนั้นการมีบ้านกรีนสักหลังจุดมุ่งหมายก็เพื่อสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุด ในต่างประเทศ บ้านกรีนของแต่ละที่แต่ละแห่งอาจจะแตกต่างกันไปบ้าง แต่รวมๆแล้ว สิ่งที่ยึดถือคล้ายกันและถือว่าเป็นคุณสมบัติที่บ้านกรีนควรจะมีก็คือ
สถานที่สร้างบ้านต้องไม่รบกวนธรรมชาติหรือรบกวนให้น้อยที่สุด และอยู่ในที่ๆเดินทางไปไหนมาไหนได้สะดวกใกล้กับป้ายเมล์ สถานีรถไฟฟ้าหรือคิวรถตู้เพื่อจะได้ลดการใช้รถส่วนตัว
ประหยัดพลังงาน ทั้งน้ำมันและไฟฟ้า เพราะการได้มาซึ่งพลังงานนั้นต้องเผาผลาญทรัพยากรและก่อให้เกิดมลพิษ
ประหยัดการใช้น้ำประปา เพราะกว่าที่จะได้น้ำประปามาใช้ในบ้านนั้นต้องใช้พลังงานหลายขั้นตอนในการผลิต
เป็นห่วงสุขภาพของผู้อยู่อาศัย ไม่ว่าจะเรื่องสารพิษตกค้างในวัสดุก่อสร้าง หรือ คุณภาพชีวิตในบ้านของผู้อยู่อาศัยทั้งสุขภาพกายและจิตใจ
ไม่ก่อให้เกิดผลกระทบในทางไม่ดีแก่ชุมชนและเพื่อนบ้านทั้งทางตรงและทางอ้อม
เลือกใช้วัสดุที่เป็นมิตรกับธรรมชาติ หาได้ง่าย ทนทาน และ ไม่สิ้นเปลืองพลังงานเพื่อที่จะได้มา
ทีนี้ท่านผู้อ่านที่กำลังอ่านคอลัมน์นี้อยู่คงจะตอบคำถามของคนอื่นได้แล้วว่าบ้านกรีน หรือ อาคารกรีน คืออะไร ให้ผมสรุปง่ายๆอีกที ก็คือ “ความสมดุลกัน ระหว่างการคำนึงถึงตัวเองและผู้อื่น รวมถึงโลกของเรา” ด้วย ยกตัวอย่างการทำบ้านที่ประหยัดพลังงานเพื่อที่จะประหยัดเงินค่าไฟของเจ้าของบ้านเพียงอย่างเดียว แต่ไม่ห่วงเรื่องสุขภาพของผู้อยู่อาศัย หรือสิ้นเปลืองวัสดุก่อสร้างมากมาย ก็ไม่น่าจะเป็นบ้านกรีนที่ดีได้
ผมได้ตอบคำถามว่า “บ้านกรีน…ยังไง?” ไปแล้วนะครับ ทีนี้มาถึงคิวของคำถามที่สำคัญกว่า คือ
“บ้านกรีน…ทำไม??” หลายๆท่านอาจจะสงสัยว่า มันถึงเวลาแล้วหรือสำหรับบ้านกรีนในเมืองไทย? โอ้วว…นี่บ้านที่น่ารักของเราจะต้องกลายเป็นบ้านกรีนเสียแล้วล่ะหรือ… ผมว่าเริ่มถามตัวเองด้วยปัญหาง่ายๆระดับประเทศกันก่อนดีกว่าครับว่า “บ้านคุณร้อนมั้ย?” …โถ…อยู่เมืองไทยก็คงร้อนกันทุกคนไม่น่าถาม แต่คุณเคยลองสังเกตดูมั้ยครับว่า บางครั้งในวันเดียวกันคุณไปบ้านเพื่อน บ้านมันกลับไม่ร้อน ทำไมน่ะหรือครับอาจจะเป็นได้หลายสาเหตุ บ้านเค้าอาจจะใช้ฉนวนดี, ต้นไม้เค้าอาจจะเยอะ หรือ เค้าอาจจะเพิ่งปิดแอร์ ก็อาจจะใช่ครับ แต่ที่ผมกำลังจะยกตัวอย่างตัวการสำคัญที่ทำให้บ้านของหลายๆท่านร้อนก็คือ………….. พื้นคอนกรีตภายนอกอาคารที่โดนแดด!!! การสะสมความร้อนในพื้นคอนกรีตทำให้อุณหภูมิในบริเวณบ้านสูงขึ้นมากกว่าที่มันควรจะเป็นในตอนกลางวันและคายความร้อนออกมาในตอนกลางคืน ซึ่งเป็นสาเหตุของ ปรากฏการณ์เกาะความร้อน (heat island effects)หรือ เกาะความร้อนเมือง (urban heat island: UHI) ที่ทำให้อุณหภูมิของเมืองสูงขึ้นทำให้เกิดการใช้แอร์กันมากขึ้นและมีผลเสียที่ตามมาด้านสิ่งแวดล้อมอีกมาก ดังนั้นการแก้ปัญหาโดยการเลือกใช้บล็อกหญ้าก็สามารถช่วยแก้ปัญหาได้ทั้งปัญหาบ้านร้อนส่วนตัว และเมืองร้อนส่วนรวมครับ
เพราะว่าบ้านและอาคารนั้นใช้พลังงาน และส่งผลกระทบทางลบต่อสิ่งแวดล้อมทั้งทางตรงและทางอ้อม ส่งผลต่อเจ้าของบ้าน ผู้อยู่อาศัย เพื่อนบ้าน ชุมชน เมือง ประเทศ และสุดท้ายก็คือ โลก ของเรา ดังนั้นการมองเห็นถึง”ความจำเป็น”ของแนวความคิดแบบกรีนจึงเป็นเรื่องที่ทุกคนควรให้ความสนใจ
และเพราะว่าการทำบ้านกรีนไม่เหมือนกับการเลือกหม้อหุงข้าวประหยัดไฟเบอร์5ที่ต้องทิ้งของเก่าแล้วซื้อของใหม่ บ้านหลังเดิมของคุณก็สามารถค่อยๆ กรีนขึ้นทีละนิดๆได้
บ้านกรีน…ทำไม??” มันถึงเวลาแล้วหรือ??
ผมตอบคำถามนี้อย่างจริงจังทุกครั้ง “ครับ มันถึงเวลาแล้ว ที่เราต้องสวมบทเป็นผู้เล่นในสนามแทนที่จะคอยเป็นแค่คนดู” สถานการณ์ภัยพิบัติรอบโลกที่เราเห็นทุกวันคงเป็นเครื่องบ่งชี้ได้ดีว่า “ชักจะไม่ไหวแล้ว” ในกรณีนี้คงไม่มีคำไหนเหมาะสมไปกว่าคำกล่าวที่ผมเคยได้ยินมานานแล้วว่า “If you’re not part of the solution, you’re part of the problem”
“หากคุณไม่ได้เริ่มเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหา, คุณก็คือส่วนหนึ่งของปัญหาแล้ว”
Recent Posts
See AllGreen Way Chapter 15 : การออกแบบบ้านเพื่อการป้องกันความร้อน การออกแบบบ้านโดยเน้นเรื่องการติดแอร์ให้ประหยัดพลังงานในบ้านเพื่อทำให้บ้านเย็น...
Green way Chapter 14: การใช้น้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุดภายในอาคาร วันนี้เรื่องที่เราจะพูดถึงกันเป็นหมวดที่สองที่อยู่ในการประเมินอาคารของ...
Green way Chapter 13: ที่ตั้งโครงการอย่างยั่งยืนในนิยามของ LEED (3) “เสียสละเพื่อส่วนรวม” คำๆนี้ พูดง่ายแต่ทำยากนะครับ เพราะว่า...
Comentários