top of page
Writer's picturegd

Chapter15 : การออกแบบบ้านเพื่อการป้องกันความร้อน

Updated: Jun 12, 2019

Green Way

Chapter 15 : การออกแบบบ้านเพื่อการป้องกันความร้อน


การออกแบบบ้านโดยเน้นเรื่องการติดแอร์ให้ประหยัดพลังงานในบ้านเพื่อทำให้บ้านเย็นเป็นหลักนั้นเป็นการประหยัดพลังงานที่ดีประการหนึ่ง แต่ในขณะเดียวกันวิถีการใช้ชีวิตในห้องแอร์อาจจะไม่ได้เหมาะกับทุกคนเสมอไป รวมถึงการเปิดแอร์ที่ประหยัดพลังงานก็ยังเป็นการใช้พลังงานอยู่ดี


หลายๆบ้านก็ยังคงใช้วิธีการระบายความร้อนของบ้านด้วยวิธีการเปิดหน้าต่างเปิดพัดลม แต่ความร้อนที่เข้ามามากทำให้ลมธรรมชาติที่เข้ามาไม่ได้ทำให้เรารู้สึกสบายเท่าที่ควร วันนี้จึงอยากจะพูดถึงเรื่องการป้องกันความร้อนของบ้าน วิธีที่จะกันความร้อนที่ดีที่สุดง่ายๆ 2 วิธี ก็คือ

  1. กันความร้อนก่อนที่ความร้อนจะเข้ามาที่ตัวบ้าน

  2. การป้องกันไม่ให้บริเวณรอบๆ บ้านเป็นแหล่งกักเก็บความร้อน

วิธีแรก ก็คือทำยังไงก็ได้ให้แสงแดดโดนบ้านโดยตรงให้ได้น้อยที่สุด อาจจะเริ่มด้วยการปลูกต้นไม้ใหญ่ทางทิศตะวันตกหรือทิศใต้ เพื่อให้ต้นไม้บังแดดให้กับบ้าน โดยที่เคล็ดลับก็คือเลือกต้นไม้ที่ให้ร่มเงาได้ดีแต่ในขณะเดียวกันก็มีความโปร่งเพียงพอให้ลมพัดเข้าตัวบ้านได้สะดวก ยกตัวอย่างเช่น ต้นหูกระจง หรือต้นแผ่บารมี ที่มีลักษณะกลุ่มใบแผ่เป็นชั้นๆห่างๆกัน จึงทำให้บังแดดได้ดีและมีช่องให้ลมผ่านเข้าบ้านได้ด้วย อย่างไรก็ตามการปลูกต้นไม้ในบริเวณบ้านควรศึกษาเรื่องของรากต้นไม้แต่ละชนิดด้วยเพราะว่ารากของต้นไม้ใหญ่จะทำความเสียหายให้กับโครงสร้างบ้านและกำแพงได้ หรืออาจจะใช้ต้นไม้ประเภทที่ล้อมมา หรือตัดรากแก้วออกแล้ว ต้นที่โตก็จะไม่สูงมากแต่ก็เพียงพอกับการให้ร่มเงาได้

หลังจากการใช้ต้นไม้กันแดดให้กับบ้าน ก็เป็นการใช้ส่วนประกอบของบ้านกันแดดให้กับบ้านเอง เช่นระแนงไม้ทั้งแนวตั้งและแนวนอน ชายคาปีกนก ชายคายาวของหลังคา  ที่ทิศใต้และทิศตะวันตกหรือการออกแบบให้บ้านมีรูปฟอร์มที่บังเงากันเองในส่วนการใช้งานตอนกลางวันช่วงเช้า และช่วงบ่าย และสุดท้ายการออกแบบจัดวางการใช้งานของบ้านโดยที่ให้ห้องต่างที่ไม่ได้เป็นส่วนการใช้งานหลักมาเป็นส่วนที่โดนความร้อนแทนเช่น ห้องน้ำ ห้องแต่งตัว ห้องเก็บของ ห้องครัว ซึ่งเป็นห้องที่ไม่ได้มีการติดแอร์อยู่แล้ว ทำให้ผนังภายนอกของห้องที่มีการใช้งานหลัก เช่น ห้องนอน ห้องนั่งเล่น ห้องทานอาหาร ไม่โดนแดดโดยตรงและไม่เก็บความร้อนเอาไว้

วิธีที่สอง หลังจากที่เรากันแดดให้กับบ้านเรียบร้อยแล้ว เราควรทำให้พื้นที่รอบๆบ้านเย็นด้วย เพราะว่าการที่พื้นที่รอบๆบริเวณบ้านเป็นพื้นคอนกรีตร้อนๆในตอนกลางวันก็จะทำให้ลมที่พัดเข้ามาในบ้านร้อนไปด้วย รวมถึงความร้อนที่คายออกมาจากพื้นคอนกรีตในบริเวณบ้านในเวลาเย็นถึงค่ำก็จะทำให้รู้สึกไม่น่าสบายได้ วิธีการป้องกันก็คือการทดแทนพื้นคอนกรีตรอบๆบ้านด้วยสนามหญ้า บ่อน้ำ และต้นไม้แทน ในกรณีที่ไม่ต้องการดูแลรักษาบริเวณรอบๆมากนักและต้องการพื้นที่จากบริเวณรอบๆบ้านเป็นที่จอดรถหรือทำกิจกรรมต่างๆก็สามารถใช้พื้น บล็อกหญ้าแทน

การเปลี่ยนมาใช้พื้นบล็อกหญ้า หรือพื้นที่ปลูกพืชรอบบริเวณบ้านนอกจากจะทำให้บ้านเย็นแล้วยังเป็นการลดภาวะเกาะร้อน (Heat Island Effects) ให้กับเมืองด้วย และที่สำคัญการทำให้พื้นที่ในบ้านเป็นบริเวณที่น้ำซึมลงดินได้แทนที่จะเป็นพื้นดาดแข็งจะมีส่วนช่วยเป็นอย่างมากในการลดปริมาณน้ำที่ไหลออกจากพื้นที่ของบ้านเราไปเป็นภาระการระบายน้ำของเมือง ที่เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วมอย่างที่เราประสบกันอยู่ทุกวันนี้

จะเห็นได้ว่าการทำให้บ้านของเราเป็นบ้านที่มีการป้องกันความร้อนนอกจากจะมีประโยชน์โดยตรงกับเราผู้เป็นผู้อยู่อาศัยในบ้านแล้ว เรายังได้ช่วยลดผลกระทบทางลบต่อส่วนรวมได้อีกทางนึงด้วย

246 views0 comments

Recent Posts

See All

Chapter 14: การใช้น้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุดภายในอาคาร

Green way Chapter 14: การใช้น้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุดภายในอาคาร วันนี้เรื่องที่เราจะพูดถึงกันเป็นหมวดที่สองที่อยู่ในการประเมินอาคารของ...

Comments


bottom of page